การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่รู้สึกตื่นเต้นและเปี่ยมไปด้วยความหวัง แต่บางครั้งก็อาจมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพขณะที่ตั้งครรภ์อยู่ และหนึ่งในความกังวลนั้นคือโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในทุกระยะ โดยมักพบในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 หรือประมาณเดือนที่ 6-7 ของการตั้งครรภ์ โรคนี้เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากฮอร์โมนของรกไปยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินที่มีหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด เมื่อฮอร์โมนอินซูลินถูกยับยั้ง ร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาไม่เพียงพอ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
👩⚕️ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์
คุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นเบาหวาน มีภาวะอ้วนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ มีระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง มีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์
🤰อาการของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ต่อคุณแม่
คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจไม่แสดงอาการชัดเจน แต่บางครั้งอาจมีอาการคล้ายกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เช่น กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย เหนื่อยง่าย และอ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดความดันสูงและการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ คุณแม่ควรตรวจพบปริมาณน้ำตาลในปัสสาวะเพื่อยืนยันโรคนี้อย่างแน่ชัด
🤱เบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่งผลต่อลูกน้อยอย่างไร
การเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่คุณแม่ แต่ยังส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ด้วย
– ภาวะคลอดก่อนกำหนด
– น้ำหนักทารกมากกว่าปกติ
– ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด
– ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ ภาวะหัวใจพิการ
– ทารกพิการแต่กำเนิด
– ทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
– ทารกอาจจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วน และอาจเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้
❤️ คุณแม่จะปฏิบัติตัวอย่างไร หากพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
▪️ ตรวจรักษาตามเวลาที่กำหนดและปฏิบัติตามคำนำจากแพทย์อย่างมีวินัย
▪️ ควบคุมอาหาร เลี่ยงอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล
▪️ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอดหรือผัด ที่ใช้น้ำมันในการประกอบอาหาร
▪️ ทานอาหารประเภทโปรตีน เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ
▪️ ทานผักให้หลากหลาย ผักที่มีกากใยสูง
▪️ หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น มะม่วง ทุเรียน
▪️ งดอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมคบเคี้ยว อาหารปรุงรสสำเร็จ
▪️ ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที เช่น เดิน ว่ายน้ำ ควรออกกำลังกายอย่างพอดี ไม่หนักจนเกินไป นอกจากจะช่วยควบคุมปริมาณน้ำตาลแล้ว การออกกำลังกายยังช่วยลดความเครียดของคุณแม่ด้วย