เคล็ดลับการปั้มนมเพื่อลูกน้อย

เทคนิคการปั้มนม

ร่างกายของคุณแม่เปรียบเสมือนโรงงานผลิตน้ำนมที่สามารถผลิตน้ำนมออกมาได้ทุกเมื่อ ขึ้นอยู่กับวินัยในการปั๊มนม ทั้งเรื่องความถี่ ระยะเวลา และการดูแลตัวเอง เพราะถ้ายิ่งปั๊มอย่างมีวินัย ร่างกายจะจดจำการนำออกไปใช้ และผลิตเติมที่เต้าอยู่เรื่อยๆ หากคุณแม่ปั๊มนมเป็นประจำและมีวินัย ก็จะมีน้ำนมในปริมาณที่สม่ำเสมอเพียงพอต่อลูกน้อยอย่างแน่นอนค่ะ และที่สำคัญจะช่วยลดปัญหาการอุดตันจนส่งผลให้เต้าอักเสบด้วยค่ะ

เคล็ดลับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมให้เพียงพอสำหรับลูกน้อย

  1. เข้าเต้าทันทีหลังคลอด: หลังคลอดแล้ว พยายามเอาลูกเข้าเต้าทันทีภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด อย่างช้าภายใน 4-6 ชั่วโมงหลังคลอดค่ะ เพื่อให้เต้านมถูกกระตุ้นจากการดูด
  2. หมั่นเอาลูกเข้าเต้าและเคลียเต้าตามรอบอย่างมีวินัย: การเอาลูกเข้าเต้าหรือการเคลียเต้านั้นเป็นการทำให้ร่างกายรับรู้ว่ามีการนำน้ำนมออกไปใช้ ยิ่งเอาน้ำนมออกจากเต้าไปเยอะแค่ไหน ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมมาเติมอยู่ตลอด หากเอาลูกเข้าเต้าและลูกดูดจนอิ่มแล้ว แต่ยังรู้สึกว่ามีน้ำนมเหลืออยู่ในเต้า ให้คุณแม่ใช้การปั๊มนมเพื่อเคลียเต้าต่อเพื่อให้น้ำนมเกลี้ยงจากเต้านะคะ ร่างกายจะได้ผลิตเติมได้อย่างเต็มที่ แล้วคุณแม่ก็ยังมีน้ำนมจากการปั๊มเก็บเป็นสต๊อกไว้ใช้ยามจำเป็นได้อีกค่ะ
  3. ดื่มน้ำเยอะๆ แนะนำอย่างน้อย 3-4 ลิตรต่อวัน: เนื่องจากน้ำคือส่วนผสมหลักของน้ำนมนะคะ ถ้าดื่มน้ำน้อย ส่งผลให้ผลิตได้น้อยไปด้วยค่ะ แนะนำให้มีขวดน้ำดื่มข้างตัวคุณแม่ไว้ตลอดค่ะ หรือสามารถตั้งเวลาไว้เตือนให้คอยจิบน้ำได้เช่นเดียวกันค่ะ
  4. ทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบหมู่: การทานอาหารที่มีสารอาหารหลากหลายเพื่อให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรง พร้อมที่จะผลิตน้ำนม และทำให้น้ำนมมีสารอาหารที่ดี ส่งผลให้ลูกแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดีด้วยค่ะ
  5. การเลือกใช้เครื่องปั๊มนมที่เหมาะสม และกรวยปั้มที่มีขนาดพอดีกับหัวนม: วิธีนี้เป็นอีกตัวช่วยนึงในการเคลียเต้าค่ะ ควรเลือกเครื่องปั๊มนมที่มีจังหวะการดูดและปล่อยอยู่ที่ 40-60 ครั้งต่อนาทีจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดค่ะ
  6. ประคบร้อนและประคบเย็น ก่อนเข้าเต้าหรือปั๊มนม: ให้คุณแม่ประคบร้อนที่เต้านมก่อนและนวดเบาๆ สัก 5-10 นาที จะช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้นค่ะ และหลังจากให้นมแล้ว เคลียเต้าแล้ว ให้ประคบเย็นสัก 10 นาทีจะช่วยลดอาการปวดและบวมจากนมคัดเต้าได้ค่ะ อย่าประคบด้วยอุณหภูมิที่สูงเกินไปนะคะ และไม่ควรประคบบริเวณลานนมและหัวนมค่ะ
  7. คุณแม่ทำใจให้สบาย: ยกเท้าขึ้นสูงๆ หายใจเข้าออกลึกๆ นึกถึงหน้าลูก มองหน้าลูก หรือมองรูปลูก เอาเสื้อผ้าน้องมาอยู่ใกล้ๆค่ะ พอคุณแม่ได้กลิ่นของน้อง ฮอร์โมนออกซิโตซินจะถูกกระตุ้น ทำให้เกิด let down reflex ค่ะ คุณแม่จะรู้สึกจี๊ดๆ ที่หัวนมในช่วงนี้ และจะเริ่มมีน้ำนมไหลออกมา และไหลได้ดีค่ะ
  8. พยายามนอนหลับหรืองีบเท่าที่ทำได้: ทุกครั้งที่ร่างกายได้หลับ หลังจากตื่น 2 ชั่วโมง น้ำนมจะผลิตได้ดีขึ้นค่ะ หากคุณแม่มีโอกาสพักได้ให้พักเลยค่ะ จะช่วยทำให้การผลิตน้ำนมมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

“คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ” แนะนำให้มีน้ำนมแค่เพียงพอให้ลูกเรามีพอทาน และมีสารอาหารที่ดีเพื่อพัฒนาการของเค้า วางแผนการสต๊อกนมให้ดี ให้มีเพียงพอเมื่อคุณแม่ติดภารกิจ ไม่สามารถเข้าเต้าหรือปั๊มตามรอบออกในบางเวลาได้ แต่อย่าผลิตน้ำนมจนเกินความต้องการนะคะ คุณแม่จะเหนื่อยโดยไม่จำเป็นค่ะ